พฤหัส. เม.ย. 25th, 2024
Google

ทุกวันนี้ไม่ว่าใครอยากจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับอะไร เพียงแค่เข้าไปในอินเทอร์เน็ต แล้วเข้าเครื่องมือค้นหาก็จะพบกับ ‘คำตอบ’ มากมายที่เราอยากรู้ขึ้นมาให้เลือกอ่านอย่างหลากหลาย โดยเครื่องมือนั้นมีชื่อเรียกว่า Search Engine (เสิร์ชเอนจิน) ซึ่งในตอนนี้คงไม่พ้น Google ที่เป็นเครื่องมือค้นหาที่ได้รับความนิยมสูงสุดและยังไม่มีใครโค่นแชมป์ลงไปได้ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2540 หรือประมาณ 23 ปีที่แล้ว รู้หรือไม่ว่าในทุกนาทีจะมีคนเข้าไปพิมพ์คำค้นหาในกูเกิลราว ๆ 3.8 ล้านครั้ง กลายเป็นเสิร์ชเอนจินที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก

Google

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Statista.com ระบุว่า กูเกิลครองสัดส่วนทางการตลาดมากที่สุดถึง 88.14 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานทั่วโลก นี่เป็นข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดสำหรับปี 2563 เครื่องมือค้นหารองลงมาเป็น Bing จาก Microsoft ที่ 6.18 เปอร์เซ็นต์ และ Baidu (ไป่ตู้) เสิร์ชเอนจินสัญชาติจีนอยู่ที่ 0.59 เปอร์เซ็นต์

รู้หรือไม่ ค้นไทยค้นหาข้อมูลผ่าน Google มากกว่า 99%

จากการรวบรวมข้อมูลของเว็บไซต์ Statcounter.com พบว่า คนไทยใช้งานกูเกิลในการหาข้อมูลในรอบ 1 ปีเกิน 99 เปอร์เซ็นต์จากเสิร์ชเอนจินทั้งหมด และหากนับสถิติเฉพาะเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแค่เดือนเดียว ก็พบว่าคนไทยค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิลมากถึง 99.23 เปอร์เซ็นต์ นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่ากูเกิลก็ไม่ต่างอะไรจาก ‘สารานุกรม’ ที่รวบรวมความรู้ทุกแขนงเอาไว้ด้วยกัน เพียงแต่ผู้ใช้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปห้องสมุดเพื่อค้นหาข้อมูลที่ต้องการเหมือนแต่ก่อน เพียงแค่เข้าอินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป หรือจะเป็นคอมพิวเตอร์ ก็ได้คำตอบที่ต้องการแล้ว

คนไทยค้นหาคีย์เวิร์ด ‘ความช่วยเหลือจากภาครัฐ’ มากที่สุด

10 อันดับแรกของคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 ของไทย พบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโครงการให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น โครงการเราไม่ทิ้งกัน , โครงการคนละครึ่ง , โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ไปจนถึงโครงการลงทะเบียนรับเงินคืนค่าไฟ ซึ่งเมื่อเป็นเรื่องปากท้องของประชาชนจึงทำให้คำค้นหาต่าง ๆ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และผู้ใช้งานก็ต้องการรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จึงทำให้มองเห็นได้ว่า ขั้นตอนที่ประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือนั้นซับซ้อน หากรู้ข้อมูลเพิ่มขึ้นก็จะได้ดำเนินการได้ถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า การประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐยังไม่ประสบความสำเร็จมากที่เท่าควร แทนที่ประชาชนจะหาคำตอบได้โดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ต้องมาหาผ่านกูเกิลแทน

เราจะเชื่อถือข้อมูลที่ค้นหาผ่านกูเกิลได้มากน้อยแค่ไหน ?

เมื่อข้อมูลที่เราได้รับผ่านกูเกิลมีอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยุคนี้ยังเป็นยุคที่ Copy & Paste แบบที่ไม่ได้มีการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม หรือบางครั้งก็เป็ข้อมูลจากแหล่งอื่นมาตัดแปะจนแทบจะหาเนื้อหาต้นฉบับไม่เจอ แล้วเราจะมั่นใจในข้อมูลต่าง ๆ ที่ค้นเจอได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนหน้านี้ กูเกิลได้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในผลการค้นหานั้นไม่สามารถกลั่นกรองได้ว่าเป็นข่าวเท็จ หรือข่าวที่ไม่มีมูล จนทำให้เกิดความสับสนในการรับสาร จึงเป็นที่มาที่ทำให้กูเกิลต้องเปิดตัวโครงการ Google News Initiative (GNI) เพื่อช่วยในการตรวจสอบข่าวปลอมและคัดกรองให้แสดงผลข้อมูลที่เป็นข่าวจริงเท่านั้น

ถึงแม้ข้อมูลจาก Google จะเชื่อถือได้ แต่ข้อมูลทั้ง 6 ประเภทนี้ต้องตรวจสอบก่อน

ถึงแม้กูเกิลจะมี ‘PageRank’ เป็นอัลกอริทึมที่ช่วยตรวจสอบและจัดอันดับความน่าเชื่อถือบนเว็บไซต์ได้มีคุณภาพมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็อาจมีช่องโหว่ที่ทำให้มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องสอดแทรกเข้ามาได้อยู่เหมือนกัน จนอาจทำให้เกิดความสับสนได้ โดยเว็บไซต์ MakeUseOf ได้เผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับหัวข้อในเรื่องต่อไปนี้ที่มีความละเอียดอ่อน จึงควรระมัดระวังในการเสพข้อมูลและตรวจสอบให้รอบด้านซะก่อน มีดังต่อไปนี้

  • ข้อมูลทางการแพทย์ (Medical Information)
  • คำแนะนำทางการเงิน (Financial Advice)
  • ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory)
  • ข่าวด่วน / ข่าวแทรก (Breaking News)
  • พิธีกรรม การปฏิบัติทางศาสนา (Religious Practices)
  • คำถามที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมี (Chemical-Related Queries)

ไม่ใช่แค่เนื้อหาที่แสดงผลบนกูเกิลเท่านั้นที่ต้องได้รับการตรวจสอบ แต่ข้อมูลบนสารานุกรมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก อย่าง Wikipedia (วิกิพิเดีย) ก็ควรจะมีการตรวจสอบด้วยเช่นกัน เพราะมีผู้ใช้งานหลายคนเข้าใจผิดว่า ข้อมูลในวิกีพีเดียได้รับการตรวจสอบและเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว แต่ในความเป็นจริง วิกิพีเดียก็เป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้างเปิดกว้าง ใคร ๆ ก็สามารถเข้าไปเพิ่มเติม หรือแก้ไขได้ ฉะนั้น จึงควรตรวจสอบเนื้อหาร่วมกับเว็บไซต์อื่น ๆ เสมอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกัน

By admin

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า